About the Show
Sustainability
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
What is Sustainability?
ความยั่งยืนคืออะไร?
เชื่อว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้หลายคนน่าจะได้ยินคำว่า “ความยั่งยืน” อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะจากโฆษณาในสื่อ จากแคมเปญต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ หรือแม้กระทั่งจากเพื่อนสายรักษ์โลกที่ดูจะอินกับเรื่องนี้กว่าใคร ๆ แถมคำว่ายั่งยืนเองก็ฟังดูเป็นสิ่งที่ดี ใครได้ยินก็อยากจะให้มีอยู่ในชีวิต ซ้ำยังเป็นเทรนด์เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีอะไรกั้น
ความหมายของคำว่า
ความยั่งยืนคืออะไรกัน?
ยั่งยืนแค่ไหน แค่ไหนเรียกยั่งยืน?
คำว่าความยั่งยืนนั้นมีมาตั้งแต่โบราณกาล แถมยังมีความหมายที่สุดแสนจะกว้างตามการตีความผ่านมุมมองของปัจเจกบุคคล องค์กร หรืออุตสาหกรรม แต่โดยพื้นฐานแล้ว ความยั่งยืนนั้นคือความสามารถในการอดทนหรือคงทนต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเกิดภัยธรรมชาติ หรือสิ่งใดก็ตามที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น หมายความว่า ถ้าหากเรามีความยั่งยืนในตัว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็จะยังทนไหว ไม่ล้มไปง่าย ๆ

ในโลกยุคปัจจุบัน คำว่าความยั่งยืนมักจะถูกผูกเอาไว้กับกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นการเก็บขยะหรือการปลูกป่า ซึ่งหากจะมองว่านั่นคือความยั่งยืนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด เพราะนั่นก็คือการสร้างความยั่งยืนมุมหนึ่ง แต่คนมักจะเข้าใจไปว่าการแยกขยะหรือปลูกต้นไม้ เท่ากับความยั่งยืน โดยที่อาจจะยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมัน ทั้งที่จริงแล้วความยั่งยืนประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม (บางแหล่งอาจมีปัจจัยทางวัฒนธรรมเข้ามาร่วมด้วย) โดยสิ่งที่ยั่งยืนจะต้องสามารถยืนหยัดอดทนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงให้ได้

หากจะพูดเรื่องการทำธุรกิจที่ยั่งยืน นั่นคือธุรกิจที่จะสามารถประกอบได้ในระยะยาว ทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งต่าง ๆ รอบข้าง ไม่ว่าจะในแง่ของการลงทุน การบริหารจัดการทรัพยากร การไม่เบียดเบียนธรรมชาติมากเกิน หรือแม้กระทั่งการลดผลกระทบและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนรอบพื้นที่ประกอบธุรกิจ การประกอบธุรกิจในแง่นี้จะช่วยให้สังคมดำเนินต่อไปได้ ทั้งยังสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคตให้ได้ด้วย

ในประเทศไทยเองก็มีการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการใช้ภูมิปัญญาบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อที่จะกระทำการต่าง ๆ โดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้อื่นหรือตนเอง ความสามารถที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน รวมถึงการยึดหลักความมีเหตุมีผล ทำแบบพอประมาณ ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป ซึ่งองค์กรธุรกิจต่าง ๆ มากมายได้น้อมนำเอาหลักการเหล่านี้มาใช้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและมอบผลประโยชน์ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งทั้งความพอเพียงและความยั่งยืนนั้นมีความคล้ายคลึงและจะส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในยุคปัจจุบันนี้ ความยั่งยืนถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในทั่วทุกมุมโลก คนไทยเองก็มีหลักการความพอเพียงเป็นแกนนำดำเนินชีวิต แต่จะดียิ่งกว่านี้ถ้าทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและเสริมสร้างความยั่งยืนด้วยกัน หากทุกคนช่วยเหลือกัน การสร้างความยั่งยืนให้กับโลกนี้จะต้องเป็นไปได้อย่างแน่นอน